หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

วิชาธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ตอนที่7

การจัดการทั่วไปและการใช้เทคโนโลยีประกอบธุรกิจ


การจัดการทั่วไป

ความหมายขององค์การ

มีผู้ให้ความหมายขององค์การไว้ต่าง ๆ กัน ดังนี้

Joseph L. Massie ให้ความหมายขององค์การไว้ว่า " องค์การ คือ กระบวนการที่กลุ่มบุคคลจัดตั้งขึ้น โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็นประเภทต่าง ๆนั้นให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ "

Herbert G. Hicks ให้ความหมายขององค์การไว้ว่า " องค์การ คือ กระบวนการจัดการให้บุคคลปฏิบัติงานรวมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ "

Daniel Katz และ Robert Kahn ให้ความหมายขององค์การไว้ว่า "องค์การ คือ กระบวนการที่ประกอบด้วยสิ่งนำเข้า(Input) ผ่านกระบวนการผลิตและได้ผลผลิต (Output) ออกมา"

จากความหมายดังกล่าวต่าง ๆ ข้างต้น สรุปได้ว่า องค์การ (Organization) คือ การรวมตัวของบุคคลต่าง ๆ เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยการแบ่งงานกันทำระหว่างผู้เป็นสมาชิก



วัตถุประสงค์ขององค์การ

วัตถุประสงค์ขององค์การ (Organization Objectives) แบ่งออกได้ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ

การดำเนินการองค์การธุรกิจ สิ่งที่องค์การต้องการคือ ความอยู่รอด ความเจริญเติบโตและความมั่นคงขององค์การสิ่งต่าง ๆเหล่านี้จะแสดงในรูปของ "กำไร" องค์การต้องพยายามทำกำไรให้ได้สูงสุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจขององค์การ กำไร คือ ผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งอาจจะแสดงในรูปของตัวเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดจากการลงทุนก็ได้

2. วัตถุประสงค์ในการให้บริการ (Service Objectives)

ในการดำเนินงานขององค์การที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง สิ่งที่องค์การต้องการมิได้หวังผลกำไร แต่ต้องการให้บริการแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจ

3. วัตถุประสงค์ทางด้านสังคม (Social Objectives)

ทั้งองค์การของรัฐและองค์การธุรกิจจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศชาติซึ่งโดยปกติวัตถุประสงค์ขององค์การของรัฐก็ คือ การให้บริการแก่สังคมโดยส่วนรวม ส่วนวัตถุประสงค์ขององค์การธุรกิจ นอกจากวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ คือกำไรแล้ว องค์การธุรกิจจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เนื่องจากการประกอบธุรกิจจะต้องสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกหลายฝ่าย ได้แก่ ลูกค้าพนักงานผู้ถือหุ้นเจ้าหนี้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งองค์การธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อบุคคลดังกล่าว เช่น ลูกค้า องค์การธุรกิจจะต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงแก่ลูกค้า ไม่ขายสินค้าปลอมปน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง









ความหมายของการจัดการทั่วไป

การจัดการ (Management) หรือการบริหาร คือ ศิลปะในการจัดการให้บุคคลอื่นหรือสมาชิกทำงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

หน้าที่และขั้นตอนของการจัดการทั่วไป

ผู้บริหารองค์การมีหน้าที่ในการจัดการหรือการบริหาร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสค์ที่ตั้งไว้ โดยการใช้คน (Men) เงิน (Mony) วัตถุดิบ (Material) และวิธีดำเนินงาน (Method) ขั้นตอนของการจัดการประกอบด้วย

1. การวางแผน (Planning)

การวางแผน เป็นหน้าที่แรกของการจัดการ โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและวิธีปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งการวางแผนจะต้องอาศัยประสบการณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การวางแผนมีความสำคัญ เพราะทำให้ลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน ทำให้เกิดการประหยัดทำให้เกิดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์การ การวางแผนเป็นหน้าที่ของผู้บริหารทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงผู้บริหารระดับกลาง หรือผู้บริหารระดับต้น แผนที่ดีจะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ และเป็นที่ยอมรับของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนนั้น

2. การจัดองค์การ (Organizing)

การจัดองค์การ คือ การกำหนดโครงสร้างขององค์การ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระเบียบ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โครงสร้างขององค์การ ปกติจะแสดงในรูปของแผนภูมิขององค์การการกำหนดโครงสร้างขององค์การจะต้องสอดคล้องกับลักษณะของกิจการดังนั้นโครงสร้างของแต่ละองค์การจึงอาจไม่เหมือนกัน ในโครงสร้างขององค์การ จะต้องระบุหน้าที่และความรับผิดชอบ สายบังคับบัญชา ทำให้สมาชิกในองค์การได้รู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นถึงการติดต่อประสานงานระหว่างแผนกงานต่าง ๆ ในองค์การหลักการในการจัดโครงสร้างองค์การ พิจารณาวัตถุประสงค์ขององค์การ แบ่งงานกันทำ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แยกสายการปฏิบัติงานจากสายงานที่ปรึกษากำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบจากระดับบนไปยังระดับล่าง กำหนดจำนวนคนใต้บังคับบัญชาในอัตรา

ที่เหมาะสม โครงสร้างองค์การควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา พิจารณาการทำงานที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องของเวลา

3. การจัดบุคคลเข้าทำงาน (Staffing)

การจัดบุคคลเข้าทำงาน คือ การจัดคนเข้าทำงานเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะงานการจัดบุคคลเข้าทำงานประกอบด้วยขั้นตอน ต่อไปนี้

3.1 การวิเคราะห์งาน คือ การกำหนดงาน รายละเอียดของงานอย่างชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางในการทำงานของบุคคลให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล

3.2 การวางแผนกำลังคน คือ การคาดคะเนจำนวนคนที่หน่วยงานขององค์การต้องการ ระยะเวลาที่ต้องการประเภทและระดับของบุคคลที่ต้องการ

3.3 การจัดหาบุคคลเข้าทำงาน คือ การแสวงหาบุคคลที่มีความสามารถตามที่ หน่วยงานขององค์การต้องการและการจูงใจให้บุคคลนั้นเข้าทำงานในองค์การ ซึ่งการจัดหาบุคคลเข้าทำงานอาจจะได้จากแหล่งภายในหรือแหล่งภายนอกองค์การก็ได้ โดยการจัดหาบุคคลจากแหล่งภายในมีข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการอบรมแนะนำงาน เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานเดิมได้มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงาน ส่วนข้อดีของการจัดหาบุคคลจากแหล่งภายนอก คือ ทำให้สรรหาบุคคลได้เหมาะสมกับงาน ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถใหม่ ๆ เข้ามาในองค์การและไม่เกิดการขาดแคลนบุคลคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน

3.4 การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน คือ การพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติตรงตามตำแหน่งานที่องค์การต้องการ วิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานเพื่อจะให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และเหมาะสมที่ดีที่สุด โดยวิธีการสอบคัดเลือก ซึ่งขั้นตอนในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานประกอบด้วย

1) ประกาศรับสมัครบุคคล โดยระบุคุณสมบัติของผู้สมัคร และระบุตำแหน่งงานที่ต้องการรับสมัครอย่างชัดเจน

2) เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจ โดยให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้สมัคร รายละเอียดเอกสารต่าง ๆที่ต้องใช้ในการสมัคร และจ่ายใบสมัครให้ผู้สมัครเพื่อนำไปกรอกข้อมูล

3) ประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีสิทธิสอบคัดเลือก โดยตรวจดูจากใบสมัครและเอกสารที่ ประกอบการสมัครว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

4) ดำเนินการสอบคัดเลือก เครื่องมือที่เหมาะสมในการนำไปใช้ในการสอบคัดเลือกคือ แบบทดสอบ ซึ่งต้องมีลักษณะการใช้ภาษาในแบบทดสอบที่ชัดเจน แบบทดสอบต้องประกอบด้วยคำถามที่ครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ที่องค์การต้องการจากผู้สมัคร

5) การสอบสัมภาษณ์และการพิจารณา การสอบสัมภาษณ์เป็นแบบทดสอบที่ใช้โดยการสนทนา สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คืออารมณ์และอคติของผู้ทำการสัมภาษณ์ที่มีต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ จะต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรม ขั้นตอนหลังจากสัมภาษณ์ จะต้องมีการประชุมพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ จากใบสมัคร ผลการสอบคัดเลือก ผลการสอบสัมภาษณ์ ประวัติการทำงานจากนายจ้างเดิม ความประพฤติจากสถาบันการศึกษา

6) ประกาศผลการสอบคัดเลือก หลังจากผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากคณะกรรมการแล้ว องค์การจะประกาศรายชื่อบุคคลที่ผ่านการสอบคัดเลือก

7) การตรวจร่างกายและประกาศผล เพื่อเป็นการคัดเลือกบุคคลที่สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคติดต่อเข้าทำงานกับองค์การหลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจร่างกายองค์การประกาศรายชื่อบุคคลเข้าทำงาน

8) จัดการปฐมนิเทศและบรรจุบุคคลเข้าทำงาน การปฐมนิเทศพนักงานใหม่เป็นการแจ้งให้พนักงานได้ทราบกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์การเป็นการแนะนำสถานที่บริการต่าง ๆ ที่คนงานควรจะได้รับจากองค์การและบรรจุบุคคลเข้าทำงานตามหน่วยงานที่เหมาะสม โดยการทำงานขั้นแรกคือการทดลองงานตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ

9) การติดตามและประเมินผลงาน หลังจากได้บรรจุคนงานให้ปฏิบัติหน้าที่แล้วองค์การจะต้องมีหน่วยงานติดตามการทำงานของพนักงาน เพื่อนำมาประเมินผลการทำงานว่ามีความเหมาะสมกับหน่วยงานที่บรรจุหรือไม่ เพื่อการนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายให้เหมาะสม

4. การอำนวยการ (Directing)

การอำนวยการ หมายถึง การที่ทำให้บุคคลอื่นปฏิบัติงาน เพื่อให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น ผู้บริหารทุกระดับจึงต้องทำหน้าที่ในการอำนวยการซึ่งประกอบด้วยการจูงใจ การประสานงาน การสื่อสาร และภาวะผู้นำของผู้บริหาร หลักการอำนวยการที่ดีคือผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา สร้างทัศนคติที่ดีในการทำงาน จูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานการมอบหมายงานต้องมีความสมบูรณ์ชัดเจนในคำสั่ง ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารภายในองค์การ รักษาไว้ซึ่งระเบียบข้อบังคับขององค์การ

5. การควบคุม (Controlling)

การควบคุม คือ การพยายามทำให้ผลของการปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนงานที่ได้ กำหนดไว้ ระบบการควบคุมประกอบด้วย

1. การกำหนดมาตรฐานของผลงานในด้านปริมาณ คุณภาพ การใช้ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายที่เสียไป ระยะเวลาที่ใช้

2. การสังเกตการปฏิบัติงานและการวัดผล โดยการเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานของคนงาน และนำข้อมูลที่ได้รับประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยการประเมินผลควรทำทั้งแบบไม่เป็นทางการและแบบเป็นทางการ

1) การประเมินผลแบบไม่เป็นทางการ คือ การสังเกตการณ์และประเมินผลการปฏิบัติตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน

2) การประเมินผลแบบเป็นทางการ คือ การประเมินผลที่กำหนดระยะเวลาการประเมินผลซึ่งอาจจะกำหนดปีละครั้งปีละ 2 ครั้ง หรือปีละ 3 ครั้ง ตามความเหมาะสมตามสภาพของงานที่จะต้องทำการประเมิน



การใช้เทคโนโลยีประกอบธุรกิจ

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในช่วงหลังคริสต์ศวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่มีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีเกิดขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรมความคิด และการดำเนินธุรกิจโดยแรงผลักดันของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ที่เรียกว่า IT ซึ่งเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคมผู้บริหารองค์การจึงจำเป็นต้องเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การเพื่อให้องค์การมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นการดำเนินงานเชิงรุก เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง เทคโนโลยีประกอบด้วยระบบจัดเก็บและประมวลข้อมูลระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ



องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ

จากความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1) ระบบจัดเก็บและประมวลข้อมูล เนื่องจากความซับซ้อนของการประกอบธุรกิจทำให้องค์การมีข้อมูลหลากหลายประเภทเป็นจำนวนมาก การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลด้วยมือจึงไม่เป็นการสะดวกและอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ การใช้คอมพิวเตอร์สนับสนุนในการจัดเก็บและประมวลผลทำให้การทำงานมีความรวดเร็วและถูกต้องยิ่งขึ้น

2) ระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อให้การสื่อสารในองค์การและการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจถูกต้อง ปัจจัยสำคัญ คือ ระบบการสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ และอุปรกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

3) การจัดการข้อมูล เป็นการจัดการรูปแบบ และระบบการใช้งานของเทคโนโลยีสารสนเทศให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ



การใช้เทคโนโลยีประกอบธุรกิจ

การประกอบธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงทั่วโลกนั้น ผู้บริหารองค์การจะต้องมีความสามารถในการคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้อง และตัดสินใจอย่างรวดเร็วเพื่อชิงการได้เปรียบจากคู่แข่งขัน เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการธุรกิจและเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่าย

ค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้บริหารองค์การจึงต้องตัดสินใจในการเลือกแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของธุรกิจที่ประกอบการ











ความหมายระบบสารสนเทศทางธุรกิจ

ระบบสารสนเทศทางธุรกิจ (Business Information System) คือ ระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการดำเนินการสนับสนุนการดำเนินงานธุรกิจให้สามารถใช้ข้อมูลและประสานงานในองค์การได้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถจำแนกตามหน้าที่ทางธุรกิจ ดังนี้

1) ระบบสารสนเทศด้านการตลาด (Marketing Information System)

2) ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน (Production and Operations Information System)

3) ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (Financial Information System)

4) ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี (Accounting Information System)

5) ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Information System)



1.ระบบสารสนเทศด้านการตลาด

หน้าที่ทางด้านการตลาด เป็นหน้าที่ในการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคการวางแผนการตลาดการส่งเสริมการขาย การกระจายสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภค นักการตลาดจึงมีความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้องค์การมีโอกาสทางการตลาดและได้เปรียบคู่แข่งขัน โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคการดำเนินการด้านการตลาดในอดีต ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขัน ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การเมือง นโยบายของรัฐ ระบบสารสนเทศด้านการตลาด แบ่งออกเป็น

11.1 ระบบสารสนเทศด้านการวิจัยตลาด เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บและประมวลข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผู้บริโภคเกี่ยวกับพฤติกรรมในการบริโภค ความต้องการในการบริโภคความสามารถในการซื้อ นอกจากนั้นยังใช้ในการวิเคราะห์ขนาดของตลาดผลิตภัณฑ์ภาวะเศรษฐกิจสภาวะการแข่งขันของตลาด เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการตลาด

การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ด้านตลาด

11.2 ระบบสารสนเทศเพื่อการขาย เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บและประมวลข้อมูลเพื่อทำให้การดำเนินงานของฝ่ายขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ รูปแบบของผลิตภัณฑ์การกำหนดราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย แนวโน้มอัตราเจริญเติบโต ยอดขายของแต่ละผลิตภัณฑ์ ต้นทุนผลิตภัณฑ์ กำไรหรือขาดทุนแต่ละผลิตภัณฑ์

11.3 ระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการขาย เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บและประมวลข้อมูลเพื่อเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดขององค์การให้สูงขึ้นโดยการจัดการด้านการโฆษณาการประชาสัมพันธ์ การจัดการโปรแกรม ลด แลก แจก แถม

11.4 ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นการใช้เทคโนโลยี สารสนเทศจัดเก็บและประมวลข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการออกผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่สู่ตลาด ทั้งด้านการเงิน การผลิต ความต้องการของผู้บริโภค



2.ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน

หน้าที่ด้านการผลิตเป็นหน้าที่ในการแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค โดยมีคุณภาพได้มาตรฐานต้นทุนต่ำและมีปริมาณพอเหมาะระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น

12.1 ระบบสารสนเทศด้านการวางแผนความต้องกรวัตถุดิบ เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บและประมวลข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิตเพื่อประมาณการปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตให้มีจำนวนที่เหมาะสมไม่ให้มากเกินไปเพราะจะส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นหรือน้อยเกินไป จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้ทัน

ความต้องการของผู้บริโภค

12.2 ระบบสารสนเทศด้านการจัดการคุณภาพ เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บและประมวลข้อมูลเพื่อพัฒนาให้การผลิตได้มาตรฐานและทันเวลาต่อความต้องการของผู้บริโภค



3.ระบบสารสนเทศด้านการเงิน

หน้าที่ด้านการเงิน เป็นหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนและการจัดสรรเงินทุนเพื่อให้องค์การสามารถดำเนินการได้โดยมีกำไรและสภาพคล่อง ระบบสารสนเทศด้านการเงินเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บและประมวลผลเพื่อวางแผนการเงินการดำเนินการด้านการเงิน และการควบคุมด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งจากอดีตและการคาดการณ์อนาคต



4.ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี

หน้าที่ด้านการบัญชี เป็นหน้าที่ในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านการเงินและการค้าให้เป็นระเบียบ โดยแยกหมวดหมู่เพื่อให้ผู้บริหารนำไปใช้ในการตัดสินใจบริหารงานขององค์การและบุคคลภายนอกองค์การ ได้แก่ เจ้าหนี้ นักลงทุนนำไปใช้ในการติดต่อสัมพันธ์กับองค์การระบบสารสนเทศด้านการบัญชี แบ่งออกเป็น

14.1 ระบบบัญชีการเงิน เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรายการค้า เพื่อทำการประมวลผลออกมาในรูปของงบการเงิน ได้แก่ งบกำไรขาดทุน งบดุล งบกระแสเงินสด งบกำไรขาดทุนสะสมตามมาตรฐานบัญชี

14.2 ระบบบัญชีบริหาร เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลเกี่ยวกับข้อมูลทางการเงิน เพื่อใช้ในการจัดการของผู้บริหารองค์การเกี่ยวกับงบประมาณการบัญชีต้นทุนและข้อมูลทางด้านการเงินอื่น ๆ ทั้งที่เป็นรายการค้าและไม่ใช่รายการค้าที่เกี่ยวข้องกับการนำมาใช้ในการตัดสินใจ



5.ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรมนุษย์

หน้าที่ด้านทรัพยากรมนุษย์ เป็นหน้าที่ในการดำเนินการด้านทรัพยากรมนุษย์ได้แก่ การวางแผน การสรรหา การจ้างงาน การอบรมพัฒนา ค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการแก่บุคคลากรระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรมนุษย์ เป็นการใช้เทคโนโลยี

สารสนเทศ จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การและบุคคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์การให้เกิดความพึงพอใจในการทำงานและอยู่กับองค์การนานที่สุด ซึ่งปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรมนุษย์ คือ ความสามารถขององค์การและบุคลากร ความปลอดภัยของระบบข้อมูล การติดต่อสื่อสารข้อมูลภายในองค์การ ต้นทุนและผลตอบแทนจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ





















แบบทดสอบที่7

คำสั่ง แบบทดสอบมี 10 ข้อ ให้คลิกเลือกข้อที่ถูกต้อง

1. การจัดองค์การคือข้อใด

ก. กระบวนการจัดแบ่งอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ข. กระบวนการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องของการจัดการ

ค. กระบวนการจัดระบบการปฏิบัติงานภายในและภายนอกองค์การ

ง. กระบวนการจัดระเบียบวิธีการทำงานทั้งหมดในโครงสร้างขององค์การ

2. หน้าที่แรกของผู้บริหารองค์การคือข้อใด

ก. การวางแผน ข. การอำนวยการ ค. การจัดองค์การ ง. การจัดบุคคลเข้าทำงาน

3. การวางแผนเป็นหน้าที่ของใคร

ก. ผู้จัดการบริษัท ข. ผู้บริหารทุกระดับ ค. ผู้อำนวยการบริษัท ง. ประธานกรรมการบริษัท

4. การจัดโครงสร้างขององค์การจะพิจารณาจากประเด็นใดเป็นหลัก

ก. วัตถุประสงค์ขององค์การ ข. สภาพแวดล้อมขององค์การ

ค. ปริมาณงานโดยรวมขององค์การ ง. จำนวนบุคลากรโดยรวมขององค์การ

5. ขั้นตอนแรกในการจัดบุคคลเข้าทำงานคือข้อใด

ก. สอบคัดเลือก ข. วิเคราะห์งาน ค. วางแผนกำลังคน ง. ประกาศรับสมัครบุคคล

6. การกำหนดหน้าที่งาน จัดโครงสร้างองค์การ กำหนดสายการบังคับบัญชา เป็นหน้าที่ใดของการจัดการ

ก. การวางแผน ข. การควบคุม ค. การอำนวยการ ง. การจัดองค์การ

7. ข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับการวางแผน

ก. การออกแบบผลิตภัณฑ์ขององค์การ ข. ตรวจสอบและดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

ค. การดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ง. กำหนดวัตถุประสงค์ นโยบายและวิธีการปฏิบัติงาน

8. ข้อใดกล่าวถึง "ประสิทธิผล" ได้ถูกต้อง

ก. ได้ผลงานที่มีคุณภาพ ข. ได้ปริมาณงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ค. ได้ผลงานที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ง. ถูกทุกข้อ

9. 4M (Man Material Money Machine) เป็นพื้นฐานของเรื่องใด

ก. หน้าที่งานในการจัดการ ข. ความสำคัญของการจัดการ

ค. ปัจจัยที่จำเป็นในการจัดการ ง. ลักษณะของระบบการจัดการ

10. ข้อใดเป็นงานขั้นแรกของกระบวนการควบคุม

ก. การกำหนดมาตรฐานของงาน ข. การกำหนดวิธีการวัดผลงานที่ปฏิบัติจริง

ค. การกำหนดวิธีเปรียบเทียบผลงานมาตรฐาน ง. การกำหนดวัตถุประสงค์และแผนการควบคุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น